December 16, 2024
Admin Cogistics Co.,Ltduser_icon

สารตกค้างในผัก ผลไม้ : อันตรายที่ซ่อนอยู่ในจานอาหาร

สารตกค้างในผัก ผลไม้ : อันตรายที่ซ่อนอยู่ในจานอาหาร

“ผัก ผลไม้ ” ถือเป็นวัตถุดิบและอาหารที่ทุกคนรับประทานเพื่อเพิ่มความสมดุลในมื้ออาหารและเพื่อสุขภาพที่ดีในชีวิตประจำวัน แต่รู้หรือไม่ว่าผักและผลไม้เหล่านี้อาจมีภัยเงียบแฝงอยู่นั่นคือ “สารตกค้าง” เช่น สารพิษตกค้างจากยาฆ่าแมลง หรือสารเคมีตกค้างอื่น ๆ ที่ปนเปื้อนจากการเพาะปลูก ซึ่งเป็นอันตรายต่อร่างกายและสามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้เมื่อบริโภคเข้าไปในระยะยาว

สารตกค้างส่วนใหญ่มักเกิดจากการที่เกษตรกรใช้สารเคมีและยาฆ่าแมลง เพื่อป้องกันและกำจัดศัตรูพืชอย่างแมลง วัชพืช และเชื้อโรคต่าง ๆ ไม่ให้พืชผลทางการเกษตรเกิดเน่าเสียหรือมีแมลงมากัดกินได้ แต่เมื่อใช้สารเคมีมากเกินไปจนเกิดตกค้างอยู่ในดิน น้ำ และพืชผล ย่อมส่งผลเสียต่อผู้บริโภคที่รับประทานผัก ผลไม้ดังกล่าวเข้าไปตามมาเช่นดียวกัน

ซึ่งสารตกค้างในผักและผลไม้หากพบในปริมาณที่ไม่มากเกินไปตามที่หน่วยงานราชการกำหนดไว้ ก็ยังสามารถรับประทานได้โดยไม่ต้องกังวล แต่อย่างไรก็ตามการที่เกษตรกรและผู้ผลิตเลือกใช้สารกำจัดศัตรูพืชมากเกินความจำเป็นหรือเลือกเก็บผลผลิตทางการเกษตรก่อนเวลาที่สารเคมีจะสลายตัวจนหมดและเกิดตกค้างในผัก ผลไม้มากเกินไปย่อมทำให้เกิดผลกระทบต่อร่างกายได้เช่นกันนั่นเอง

อีกทั้งปัญหาสารตกค้างในผักผลไม้ไม่ได้เป็นเพียงเรื่องของการปนเปื้อนในอาหารเท่านั้น แต่ยังมีความเชื่อมโยงกันกับความปลอดภัยทางอาหาร (Food Safety) และมาตรฐานการผลิตในภาคเกษตรกรรม ตลอดจนต่อยอดถึงเป็นปัญหาสำหรับคุณภาพของวัตถุดิบที่ใช้ผลิตในภาคอุตสาหกรรมหรือธุรกิจอาหารเช่นเดียวกัน

เพราะฉะนั้นการตระหนักถึงอันตรายจากสารตกค้างที่อาจปนเปื้อนมากับผัก ผลไม้จึงเป็นสิ่งที่เราทุกคนไม่ควรมองข้ามทั้งผู้บริโภคและผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหารเอง ดังนั้นในวันนี้เราจะขอพาทุกท่านไปทำความเข้าใจถึงอันตรายที่ส่งผลกระทบต่อร่างกายจากสารพิษตกค้าง ประเภทของสารเคมีที่พบมากในพืชผลทางการเกษตร รวมถึงวิธีหลีกเลี่ยงและลดความเสี่ยงจากสารเคมีตกค้างเพื่อให้ทุกคนสามารถรับประทานผักและผลไม้ได้อย่างมั่นใจและปลอดภัยมากยิ่งขึ้นนั่นเอง

 

อันตรายจากสารพิษตกค้างในร่างกาย

สารตกค้างในผักผลไม้สามารถก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของผู้บริโภคได้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยสารพิษตกค้างเหล่านี้มักเกิดการตกค้างจากยาฆ่าแมลง สารกำจัดศัตรูพืช และสารเคมีต่าง ๆ ที่ใช้ในกระบวนการเพาะปลูกพืชผลทางการเกษตร เมื่อเราบริโภคผัก ผลไม้ที่มีสารตกค้างเข้าไปย่อมทำให้ส่งผลกระทบต่อร่างกายของเราได้ ดังนี้

  1. อันตรายแบบเฉียบพลัน : ผลกระทบที่เกิดขึ้นทันทีหรือภายในระยะเวลาไม่นานหลังจากบริโภคสารพิษตกค้างเข้าไปในปริมาณมาก อาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย เวียนหัว ปวดศีรษะ กล้ามเนื้อกระตุก หรือเกิดแผลขึ้นได้จากการสัมผัสสารเคมีโดยตร
  2. อันตรายแบบเรื้อรัง : ผลกระทบจากสารพิษตกค้างในร่างกายเมื่อได้รับสารพิษและสะสมในร่างกายเป็นระยะเวลานาน แม้ในปริมาณเล็กน้อยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจไม่แสดงอาการให้เห็นได้ในทันทีแต่สามารถทำให้เกิดโรคเรื้อรังต่าง ๆ ขึ้นได้ในอนาคต เช่น โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคผิวหนัง ความจำเสื่อม หรือเกิดความผิดปกติทางพันธุกรรมต่อทารกในครรภ์ได้

 

สารตกค้างในผักผลไม้ มีอะไรบ้าง

สารตกค้างในผักผลไม้ มีอะไรบ้าง
ตัวอย่างสารตกค้างในผักผลไม้ที่พบบ่อยจากการสุ่มตรวจสอบพืชผัก ผลไม้ที่วางขายในท้องตลาดและร้านค้าโมเดิร์นเทรด (Modern Trade) มีดังนี้

  • ออร์แกโนฟอสเฟต (Organophosphate) : สารเคมีตกค้างที่มีพิษรุนแรง ซึ่งเป็นพิษต่อแมลงและสัตว์อื่น ๆ ทุกชนิด หากมนุษย์ได้รับสารชนิดนี้เข้าไปในกรณีที่ไม่รุนแรงอาจทำให้มีอาการอ่อนเปลี้ย ปวดศรีษะ คลื่นไส้ อาเจียน หรือปวดท้อง เป็นต้น
  • คาร์บาเมต (Carbamate) : สารกำจัดแมลงที่มีประสิทธิภาพคล้ายกับออร์แกโนฟอสเฟต หากร่างกายได้รับสารพิษเข้าไปจะทำให้เกิดอาการทางระบบประสาทเช่นเดียวกัน
  • ไพรีทรอยด์ (Pyrethroids) : สารเคมีกลุ่มสังเคราะห์ ซึ่งเป็นสารที่มีความเป็นพิษต่อแมลงสูง อีกทั้งยังมีราคาแพงและไม่ค่อยนิยมใช้มากเท่าไหร่ แต่เมื่อสัมผัสกับร่างกายมนุษย์ก็สามารถก่อให้เกิดอาการระคายเคืองต่อผิวหนัง ดวงตา และระบบทางเดินหายใจได้
  • ออร์แกโนคลอรีน (Organochlorines) : สารตกค้างที่พบในห่วงโซ่อาหารและสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีคุณสมบัติซึมผ่านผิวหนังได้ง่าย สามารถก่อให้เกิดการสะสมจนเกิดเป็นโรคมะเร็งได้และเกิดพิษเรื้อรังได้ในระยะยาว
  • คาร์โบฟูราน (Carbofuran) : สารกำจัดแมลงที่นิยมใช้ในนาข้าวและพืชไร่ ซึ่งมีพิษเฉียบพลันทำให้เกิดอันตรายต่อระบบประสาท หัวใจ หลอดเลือด และอาจเป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจได้
  • เมโทมิล (Methomyl) : สารพิษตกค้างที่ใช้ในการกำจัดแมลงประเภทเจาะกัดพืชผัก ผลไม้ หากร่างกายได้รับเข้าไปในปริมาณมากจะทำให้มีความเป็นพิษสูงต่อระบบประสาทและระบบหายใจ หรือเกิดอาการเฉียบพลัน เช่น ตาพร่า ปวดศีรษะ วิงเวียน คลื่นไส้ เป็นต้น
  • ไดโครโตฟอส (Dicrotophos) : สารกำจัดแมลงศัตรูพืชในพืชผลอย่างข้าวและกาแฟ หากสะสมในร่างกายเป็นเวลานานอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคร้ายแรง เช่น สารก่อมะเร็ง เป็นก่อมะเร็ง หรือพิษเรื้อรังต่อระบบประสาท
  • อีพีเอ็น (EPN) : สารเคมีที่ใช้เป็นหัวยาเพื่อผสมกับสารเคมีชนิดอื่น ๆ ในการเพาะปลูกสำหรับการกำจัดแมลง สามารถทำให้เกิดอาการเฉียบพลันได้ เช่น คลื่นไส้ ปวดหัว เหงื่ออกมาก หรือแน่นหน้าอก เป็นต้น

บทความแนะนำ :

 

10 ผัก ผลไม้ที่พบสารตกค้างมากที่สุด

10 ผัก ผลไม้ที่พบสารตกค้างมากที่สุด

เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือ Thai-PAN ได้มีการตรวจสอบผักและผลไม้ โดยการสุ่มตรวจตัวอย่างทั่วประเทศ ประกอบไปด้วยผัก 18 ชนิด และผลไม้ 9 ชนิด จากการส่งตัวอย่างไปตรวจสอบที่ห้องปฏิบัติการ ณ​ ประเทศสหราชอาณาจักร โดยครอบคลุมทั้งสารเคมีกำจัดแมลงและเชื้อรากว่า 500 ชนิด

พบว่ามีสารตกค้างในผักผลไม้มากถึง 58.7% ที่พบสารตกค้างเกินมาตรฐานจากการเก็บตัวอย่างมาชนิดละ 16 ตัวอย่างจากท้องตลาดและร้านโมเดิร์นเทรด ได้แก่ 1. พริกแดง 2. ส้ม 3. ฝรั่ง 4. แก้วมังกร 5. มะละกอ 6. กะเพรา 7. ถั่วฝักยาว 8. คะน้า 9. มะม่วงน้ำดอกไม้ 10. ผักกาดขาวปลี

ที่มา : เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN), จาก https://thaipan.org/highlights/2283

 

วิธีลดและเลี่ยงสารพิษตกค้างในผัก ผลไม้

 

วิธีหลีกเลี่ยงสารพิษตกค้างในผัก ผลไม้

  • เลือกผัก ผลไม้ตามฤดูกาล : ผักและผลไม้ตามฤดูกาลมักมีการใช้สารเคมีในการเพาะปลูกน้อยกว่า เนื่องจากธรรมชาติของฤดูกาลจะเอื้ออำนวยต่อการเจริญเติบโต จึงทำให้พืชผลที่ได้มีความปลอดภัย รสชาติดี และมีคุณภาพ
  • เลือกบริโภคผักพื้นบ้านและไม่ซ้ำชนิด : การเลือกทานผักพื้นบ้านที่ปลูกตามรั้ว มักมีการใช้สารเคมีน้อยกว่าพืชผักที่ปลูกในระบบการเกษตรเชิงพาณิชย์ อีกทั้งการเลือกบริโภคผักที่หลากหลายจะช่วยลดความเสี่ยงจากการสะสมของสารเคมีชนิดใดชนิดหนึ่งที่อาจตกค้างในผักหรือผลไม้บางชนิดได้อีกด้วยนั่นเอง
  • เลือกซื้อผัก ผลไม้ที่ได้รับการรับรอง : การเลือกซื้อวัตถุดิบผัก ผลไม้จากผู้ประกอบการที่ได้รับการรับรองมาตรฐานจากหน่วยงานที่มีชื่อเสียงจะช่วยเพิ่มความมั่นใจในคุณภาพว่าเป็นพืชผลที่มีการใช้สารเคมีในปริมาณที่ปลอดภัยและถูกควบคุมให้อยู่ในระดับมาตรฐาน หรือเลือกซื้อผักเกษตรอินทรีย์ที่ไม่ใช้สารเคมีในการเพาะปลูก เป็นต้น
  • เลือกซื้อจากแหล่งปลูกที่มีคุณภาพ : การเลือกซื้อผักและผลไม้จากฟาร์มปลูกที่มีชื่อเสียงหรือแหล่งปลูกที่น่าเชื่อถือ เช่น ตลาดเกษตรกร หรือโครงการหลวง นอกจากจะช่วยลดความเสี่ยงจากสารตกค้างในผักผลไม้แล้วยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในชุมชนอีกด้วย

วิธีล้างผัก ผลไม้เพื่อลดสารพิษตกค้าง

  • ล้างด้วยเกลือ

วิธีการ : ผสมเกลือ 1 ช้อนโต๊ะกับน้ำสะอาด 4 ลิตร แช่ผักหรือผลไม้ทิ้งไว้ประมาณ 10 นาที แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด
ผลลัพธ์ : ลดสารตกค้างได้ประมาณ 27-30%

  • ล้างด้วยน้ำส้มสายชู

วิธีการ : ผสมน้ำส้มสายชู 1 ช้อนโต๊ะกับน้ำสะอาด 4 ลิตร แช่ผัก ผลไม้ทิ้งไว้ 1 นาที แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด
ผลลัพธ์ : ลดสารตกค้างได้ประมาณ 29-38%

  • ล้างด้วยด่างทับทิม

วิธีการ : ใช้เกล็ดด่างทับทิม 20-30 เกล็ด ผสมกับน้ำสะอาด 4 ลิตร แช่ผักหรือผลไม้ไว้ 10 นาที จากนั้นล้างออกด้วยน้ำสะอาด
ผลลัพธ์ : ลดสารตกค้างได้ประมาณ 35-45%

  • ล้างด้วยน้ำเปล่า

วิธีการ : แช่ผัก ผลไม้ในน้ำเปล่าทิ้งไว้ 15 นาที จากนั้นคลี่ใบผักออกทีละใบและล้างด้วยน้ำไหลผ่าน 2 นาทีพร้อมถูเบา ๆ
ผลลัพธ์ : ลดสารตกค้างได้ประมาณ 54-63%

  • ล้างด้วยเบกกิ้งโซดา

วิธีการ : ผสมเบกกิ้งโซดา 1/2 ช้อนโต๊ะกับน้ำสะอาด 10 ลิตร แช่ผักหรือผลไม้ทิ้งไว้ 15 นาที แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด
ผลลัพธ์ : ลดสารตกค้างได้มากที่สุด ประมาณ 80-95%

 

ข้อมูลอ้างอิง : กลุ่มพัฒนาคุณภาพสินค้าปศุสัตว์สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดยะลา, จาก https://pvlo-yaa.dld.go.th/yaa25/images/stories/office/residue.pdf
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข, จาก https://db.oryor.com/databank/k2/pdfs/7150.pdf
เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN), จาก https://thaipan.org/highlights/2283

 

Veggie Industry บริการจัดหาวัตถุดิบผัก ผลไม้แช่แข็ง

Veggie Industry บริการจัดหาวัตถุดิบผัก ผลไม้แช่แข็ง
สารตกค้างในผักผลไม้เป็นปัญหาสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม เพราะอาจส่งผลต่อสุขภาพทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ดังนั้นการเลือกซื้อวัตถุดิบที่มีคุณภาพ รวมถึงการล้างทำความสะอาดอย่างถูกวิธี ถือเป็นขั้นตอนสำคัญที่จะช่วยลดความเสี่ยงจากสารพิษตกค้างได้

Cogistics ในฐานะผู้ให้บริการจัดหาวัตถุดิบผัก ผลไม้แช่แข็งผ่านบริการ “Veggie Industry” เราเข้าใจถึงความสำคัญของความปลอดภัยและคุณภาพของวัตถุดิบ จึงคัดสรรผลผลิตจากแหล่งปลูกที่มีคุณภาพทั่วโลก และผ่านกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐานสากล เพื่อให้ลูกค้าในภาคอุตสาหกรรมอาหารมั่นใจได้ว่าจะได้รับวัตถุดิบผัก ผลไม้แช่แข็งที่มีคุณภาพ ปราศจากสารปนเปื้อน และสามารถนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์อาหารที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค

สำหรับผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมอาหารที่ต้องการลดความยุ่งยากในการจัดหาวัตถุดิบ Cogistics ขอแนะนำบริการจัดหาผักผลไม้แช่แข็งจาก Veggie Industry ที่ตอบโจทย์ด้วยการคัดสรรวัตถุดิบคุณภาพจากแหล่งปลูกที่เชื่อถือได้และผ่านกระบวนการแช่แข็งที่คงความสดใหม่ พร้อมใช้งานทันที ช่วยลดต้นทุนและขั้นตอนการเตรียมวัตถุดิบได้อย่างมีประสิทธิภาพ

มาร่วมกันสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์อาหารที่ปลอดภัยและมีคุณค่าทางโภชนาการ เลือก Veggie Industry by Cogistics พาร์ทเนอร์ผู้อยู่เบื้องหลังการผลิตสินค้าอาหารที่ปลอดภัยสำหรับผู้บริโภคในทุกจาน

 

สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ช่องทาง

Call: 02-328-6638

Line Official: @cogistics

Facebook: Cogistics Co., Ltd.

Email: salesorder@cogistics.co.th

แล้วมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับเรา Cogistics เพื่อนคู่คิดธุรกิจอุตสาหกรรมอาหาร