October 31, 2024
Admin Cogistics Co.,Ltd
วัตถุเจือปนอาหาร (Food Additives) คืออะไร? ทำไมต้องใช้ในการผลิตสินค้าอาหารแปรรูป
อาหารแปรรูปหรืออาหารสำเร็จรูปกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของผู้คนในยุคสมัยนี้ โดยการผลิตอาหารเหล่านี้ในปริมาณมากจำเป็นจะต้องอาศัยสารเคมีหรือเทคโนโลยีการผลิตบางชนิดที่ช่วยในการปรุงแต่งสี กลิ่น รสชาติ รวมถึงช่วยในการถนอมอาหารให้คงความสดใหม่และยืดอายุการเก็บรักษาให้นานยิ่งขึ้น
จึงทำให้ “วัตถุเจือปนอาหาร” หรือ “Food Additives” เข้ามามีบทบาทสำคัญในกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปและอาหารสำเร็จรูป โดยเฉพาะในผลิตภัณฑ์อาหารที่ต้องการการคงรสชาติและกลิ่นที่คงเส้นคงวาในแต่ละล็อตการผลิต
แต่ในขณะเดียวกันวัตถุเจือปนอาหารก็เป็นประเด็นที่ถูกถกเถียงกันอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องความปลอดภัยและผลกระทบต่อสุขภาพของผู้บริโภค จนทำให้หลายคนมีความกังวลว่าการบริโภควัตถุเจือปนอาหารในปริมาณมากอาจก่อให้เกิดโรคเรื้อรังหรือปัญหาสุขภาพอื่น ๆ
ดังนั้นการใช้วัตถุเจือปนอาหาร (Food Additives) ในการผลิตอาหารแปรรูปนั้นจะต้องผ่านการรับรองมาตรฐานความปลอดภัยจากหน่วยงานต่าง ๆ เช่น องค์การอาหารและยา (อย.) เพื่อให้แน่ใจว่าผลิตภัณฑ์อาหารจะไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพผู้บริโภค และมีการกำหนดปริมาณการใช้ที่เหมาะสมต่อสุขภาพนั่นเอง
วัตถุเจือปนอาหาร คืออะไร ?
Food Additives หรือ วัตถุเจือปนอาหาร คือ สารหรือส่วนประกอบที่เติมลงไปในอาหารโดยมีจุดประสงค์เพื่อปรับแต่งคุณลักษณะของอาหาร เช่น สี กลิ่น รสชาติ เนื้อสัมผัส รวมไปถึงช่วยยืดอายุการเก็บรักษา ซึ่งวัตถุเจือปนอาหารเหล่านี้ไม่เพียงแต่ช่วยทำให้อาหารมีความน่ารับประทานมากขึ้น แต่ยังช่วยรักษาคุณภาพของอาหารให้คงที่ในระหว่างการผลิต การบรรจุ การขนส่ง และเก็บรักษา เพื่อให้ผลิตภัณฑ์อาหารมีความสดใหม่และน่าบริโภคแม้จะเก็บไว้นานก็ตาม
ซึ่งการใช้วัตถุเจือปนอาหารในอุตสาหกรรมอาหารสำหรับการผลิตอาหารแปรรูปและอาหารสำเร็จรูป มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งเพื่อช่วยลดการสูญเสียทรัพยากรอาหารที่อาจเกิดขึ้นจากการเสื่อมสภาพ รวมถึงช่วยให้สามารถผลิตอาหารได้ปริมาณมากและมีคุณภาพสม่ำเสมอในแต่ละครั้ง นอกจากนี้วัตถุเจือปนอาหารยังช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์อาหาร โดยเฉพาะในกรณีที่ต้องการเพิ่มรสชาติ กลิ่น หรือสีสันเพื่อให้ตรงกับความต้องการและความชื่นชอบของผู้บริโภค
โดยในกระบวนการผลิตอาหาร “วัตถุเจือปนอาหาร” มีหลายประเภทและการใช้ประโยชน์ที่แตกต่างกันออกไป เช่น
- สารกันเสีย (Preservatives) : วัตถุกันเสียหรือสารกันบูดที่ช่วยป้องกันการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์และเชื้อรา ซึ่งสามารถทำให้อาหารเสื่อมคุณภาพได้เร็ว
- สารแต่งสี (Coloring Agents) : สารให้สีหรือสีผสมอาหารที่ช่วยปรับแต่งสีสันของอาหารให้ดูน่ารับประทาน เช่น สีสังเคราะห์หรือสีที่ได้จากธรรมชาติ
- สารปรุงแต่งรสชาติ (Flavor Enhancers) : สารชูรสหรือสารแต่งกลิ่นรสเพื่อเพิ่มรสชาติของอาหาร
- สารให้ความคงตัว (Stabilizer) : สารที่ช่วยปรับปรุงเนื้อสัมผัสให้คงรูปและคงเสถียรภาพของผลิตภัณฑ์อาหารในระหว่างการแปรรูปหรือการเก็บรักษา
ทำไมต้องใช้วัตถุเจือปนอาหารในการผลิตสินค้าอาหารแปรรูป
การใช้วัตถุเจือปนอาหารในการผลิตอาหารแปรรูปและอาหารสำเร็จรูปจะสามารถช่วยเพิ่มคุณสมบัติและคุณภาพของผลิตภัณฑ์อาหารให้ตรงตามมาตรฐานที่ผู้บริโภคต้องการ โดยเฉพาะในด้านการคงสภาพของรสชาติ เนื้อสัมผัส สีสัน และอายุการเก็บรักษาของผลิตภัณฑ์ รวมถึงเพิ่มความน่ารับประทาน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ในการนำวัตถุเจือปนอาหารมาใช้งาน เช่น
- ช่วยยืดอายุในการเก็บรักษาให้ยาวนานขึ้น
- ปรับปรุงสี กลิ่น และรสชาติให้น่ารับประทาน
- รักษาคุณภาพโดยรวมของผลิตภัณฑ์อาหาร
- เพิ่มความคงตัวและปรับปรุงเนื้อสัมผัส
- ควบคุมความเป็นกรด-ด่างของอาหาร
- รักษาคุณค่าทางโภชนาการของอาหารให้มีความคงตัว
ประเภทของวัตถุเจือปนอาหาร มีอะไรบ้าง ?
วัตถุเจือปนอาหาร (Food Additives) มีหลายประเภทซึ่งทำหน้าที่แตกต่างกันไปในกระบวนการผลิตและเก็บรักษาอาหาร โดยโครงการมาตรฐานอาหารขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติและองค์การอนามัยโลก (Joint FAO/WHO CODEX Alimentarius Commission, Codex) ได้มีการแบ่งกลุ่มวัตถุเจือปนอาหารตามหน้าที่ทางเทคโนโลยีการผลิตทั้งหมด 27 กลุ่ม ดังต่อไปนี้
- สารควบคุมความเป็นกรด (Acidity Regulator) : สารที่เปลี่ยนหรือควบคุมความเป็นกรดหรือด่างของอาหาร
- สารป้องกันการจับเป็นก้อน (Anticaking Agent) : สารลดการจับตัวเป็นก้อนของส่วนผสมของอาหาร
- สารป้องกันการเกิดฟอง (Antifoaming Agent) : สารป้องกันหรือลดการเกิดฟอง
- สารป้องกันการเกิดออกซิเดชั่น (Antioxidant) : สารยืดอายุของอาหาร โดยป้องกันการเสื่อเสียจากการออกซิเดชั่น เช่น การหืนของไขมันและการเปลี่ยนสีของอาหาร
- สารฟอกสี (Bleaching Agent) : วัตถุเจือปนอาหารที่ใช้สำหรับฟอกสีอาหารชนิดอื่น ๆ ยกเว้นแป้ง
- สารเพิ่มปริมาณ (Bulking Agent) : สารซึ่งนอกเหนือจากอากาศหรือน้ำ ซึ่งช่วยเพิ่มปริมาณของอาหาร โดยไม่มีผลต่อค่าพลังงานของอาหารอย่างมีนัยสำคัญ
- สารให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbonating Agent) : วัตถุเจือปนอาหารที่เติมลงไปเพื่อให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
- สารช่วยทำละลายหรือช่วยพา (Carrier) : วัตถุเจือปนอาหารที่ใช้สำหรับช่วยในการทำละลาย เจือจาง การกระจายตัว หรือการปรับสภาพทางกายภาพของวัตถุเจือปนอาหารหรือสารอาหาร เพื่อช่วยส่งเสริมการผลิต การประยุกต์ใช้วัตถุเจือปนอาหารหรือสารอาหาร ทั้งนี้ต้องไม่ส่งผลต่อหน้าที่ของวัตถุเจือปนอาหารหรือสารอาหาร
- สี (Colour) : สารเพิ่มหรือรักษาสีของอาหาร
- สารคงสภาพของสี (Colour Retention Agent) : สารที่คงสภาพหรือรักษาหรือเพิ่มสีของอาหาร
- อิมัลซิไฟเออร์ (Emulsifier) : สารที่รักษาส่วนผสมของสารที่รวมตัวกัน เช่น น้ำและน้ำมันในอาหาร ให้มีความสม่ำเสมอ
- เกลืออิมัลซิไฟอิ้งค์ (Emulsifying Agent) : สารที่ทำหน้าที่ช่วยให้ของเหลวสองชนิดที่ปกติไม่สามารถผสมกันได้สามารถผสมเข้าด้วยกันได้อย่างเป็นเนื้อเดียวกัน
- สารทำให้แน่น (Firming Agent) : สารที่รักษาหรือทำให้เนื้อเยื่อของผลไม้หรือผักแน่นและกรอบ หรือทำปฏิกิริยากับสารให้เจล เพื่อทำให้เกิดเจลหรือให้เจลแข็ง
- สารเพิ่มรสชาติ (Flavour Enhancer) : สารเพิ่มรสชาติหรือกลิ่นของอาหาร
- สารปรับปรุงคุณภาพแป้ง (Flour Treatment Agent) : สารที่เติมไปในแป้งเพื่อเพิ่มคุณสมบัติ ในการอบและการเกิดสี
- สารทำให้เกิดฟอง (Foaming Agent) : สารที่ทำให้เกิดฟองหรือคงการกระจายตัวของอากาศในอาหารที่เป็นของเหลวหรือของแข็ง
- สารทำให้เกิดเจล (Gelling Agent) : สารที่ให้เนื้อสัมผัสของอาหารโดยการสร้างเจล
- สารเคลือบผิว (Glazing Agent) : สารซึ่งเมื่อใช้กับผิวภายนอกของอาหารแล้วจะมีลักษณะปรากฏที่เป็นผิวมัน หรือช่วยเคลือบผิวเพื่อป้องกัน
- สารทำให้เกิดความชุ่มชื้น (Humectant) : สารป้องกันการแห้งของอาหารเนื่องจากบรรยากาศที่มีความชื้นต่ำ
- ก๊าซที่ช่วยในการเก็บรักษาอาหาร (Packaging Gas) : วัตถุเจือปนอาหารที่เป็นก๊าซใช้เติมลงไปในภาชนะบรรจุทั้งก่อน ระหว่างการบรรจุ และหลังการบรรจุเพื่อยืดอายุการเก็บรักษาอาหาร โดยลดการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชั่น
- สารกันเสีย (Preservative) : สารยืดอายุของอาหารโดยการป้องกันการเสื่อมเสียจากจุลินทรีย์
- ก๊าซที่ใช้ขับดัน (Propellant) : ก๊าซที่นอกเหนือจากอากาศ ซึ่งช่วยขับดันอาหารออกจากภาชนะบรรจุ
- สารช่วยให้ฟู (Raising Agent) : สารหรือของผสมของอาหารที่ทำให้อากาศแยกตัวเป็นอิสระและเพิ่มปริมาณของแป้งทำขนมปัง
- สารช่วยจับอนุมูลโลหะ (Sequestrant) : วัตถุเจือปนอาหารที่ใช้จับกับสารที่มีประจุบวก เช่น โลหะหนัก เพื่อป้องกันการเกิดปฏิกิริยาของโลหะหนัก
- สารทำให้คงตัว (Stabilizer) : สารที่ทำให้การแขวนลอยของสารตั้งแต่ 2 ชนิด ที่ไม่รวมกันในอาหารมีความสม่ำเสมอ
- สารให้ความหวาน (Sweetener) : สารที่ให้รสหวานอื่นๆ ที่ไม่ใช่น้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว (Monosaccharide Sugar) หรือน้ำตาลโมเลกุลคู่ (Disaccharide Sugar)
- สารให้ความข้นเหนียว (Thickener) : สารให้ความหนืดแก่อาหารหรือปรับปรุงเนื้อสัมผัสของอาหาร
ข้อมูลอ้างอิง : กองอาหาร (Food Division). (ม.ป.ป.). การใช้วัตถุเจือปนอาหาร, จาก https://food.fda.moph.go.th/media.php?id=512256961891409920&name=GMPKM_4.pdf
ตัวอย่างผลิตภัณฑ์อาหารที่ใช้วัตถุเจือปนอาหารเป็นส่วนประกอบ
วัตถุเจือปนอาหาร (Food Additives) นั้นได้แทรกซึมเข้าไปอยู่ในผลิตภัณฑ์อาหารที่เรารับประทานกันอยู่ทุกวัน โดยอาจพบได้ในผลิตภัณฑ์หลากหลายประเภท ตั้งแต่ของแห้ง ของเหลว ไปจนถึงอาหารแปรรูปชนิดต่างๆ โดยมีตัวอย่างผลิตภัณฑ์อาหารที่มักจะใช้วัตถุเจือปนอาหาร ได้แก่
- เครื่องดื่มอัดลมและน้ำผลไม้ : เครื่องดื่มเหล่านี้มักใช้วัตถุเจือปนอาหาร เช่น สารให้ความหวาน (Sweeteners) ทั้งแบบน้ำตาลและสารทดแทน รวมถึงสารกันเสีย (Preservatives) เพื่อช่วยให้เครื่องดื่มคงรสชาติและไม่เสียสภาพแม้ในช่วงที่จัดเก็บเป็นเวลานาน นอกจากนี้ยังมีการใช้สารแต่งสีและกลิ่นเพื่อให้เครื่องดื่มมีสีสันสดใสและกลิ่นหอมน่าดื่มอีกด้วย
- อาหารสำเร็จรูปและอาหารแช่แข็ง : ผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูป เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ซุปสำเร็จรูป และอาหารแช่แข็ง มักมีการใช้สารกันเสียเพื่อยืดอายุการเก็บ และการใช้สารเพิ่มรสชาติ (Flavor Enhancers) เช่น ผงชูรส (MSG) เพื่อเพิ่มรสชาติของอาหารให้เข้มข้น และสารดูดความชื้น (Humectants) ที่ช่วยคงความชุ่มชื้นของอาหาร เป็นต้น
- ไอศกรีมและผลิตภัณฑ์นม : ไอศกรีมและผลิตภัณฑ์นมต่าง ๆ มักใช้สารอิมัลซิไฟเออร์ (Emulsifiers) เช่น เลซิติน และสารเพิ่มความคงตัว (Stabilizers) เพื่อให้ผลิตภัณฑ์มีเนื้อสัมผัสที่เนียนนุ่มและไม่แยกชั้นเมื่อเก็บไว้ในระยะเวลานาน รวมถึงใช้สารแต่งกลิ่นและรสเพื่อเพิ่มความอร่อย เช่น กลิ่นวานิลลาหรือรสช็อกโกแลต เป็นต้น
- ขนมอบและเบเกอรี : ขนมอบ เช่น เค้ก คุกกี้ และขนมปัง มักใช้วัตถุเจือปนอาหารปนหลายประเภท เช่น สารกันบูดเพื่อยืดอายุการเก็บรักษา สารฟอกสี (Bleaching Agents) เพื่อทำให้แป้งมีสีขาวขึ้น หรือสารช่วยฟู (Leavening Agents) เพื่อเพิ่มปริมาตรให้ขนมดูนุ่มฟูและน่าทานนั่นเอง
Cogistics พันธมิตรที่พร้อมให้บริการจัดหาผักและผลไม้แช่แข็งที่ได้มาตรฐานสากล
สำหรับผู้ผลิตในธุรกิจและอุตสาหกรรมอาหารที่ต้องการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์อาหารที่คงคุณภาพและคงความสดของวัตถุดิบไว้ได้นาน “Veggie Industry” บริการจัดหาวัตถุดิบผักผลไม้แช่แข็งด้วยระบบซัพพลายเชน (Supply Chain) จาก Cogistics พร้อมเป็นพันธมิตรที่ให้บริการสำหรับธุรกิจของคุณ
เพื่อให้ธุรกิจของคุณมั่นใจได้ว่าผลิตภัณฑ์อาหารจะยังคงรสชาติและคุณประโยชน์ที่สดใหม่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นผลไม้แช่แข็งสำหรับการทำเครื่องดื่มสมูทตี้ หรือผักแช่แข็งสำหรับการผลิตอาหารสำเร็จรูป การเลือกใช้วัตถุดิบคุณภาพจาก Veggie Industry จะช่วยให้คุณสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคได้อย่างครบครัน
สามารถเลือกชมผลิตภัณฑ์ผัก-ผลไม้แช่แข็งกว่า 100 ชนิดได้ที่ :
รวมวัตถุดิบ ผักแช่แข็ง-ผลไม้แช่แข็ง จาก Veggie Industry กว่า 100 ชนิด เพื่ออุตสาหกรรมอาหาร
หรือดูรายละเอียดบริการเพิ่มเติมที่ แคตตาล็อก Veggie Industry
สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ช่องทาง
Call: 02-328-6638
Line Official: @cogistics
Facebook: Cogistics Co., Ltd.
Email: salesorder@cogistics.co.th
แล้วมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับเรา Cogistics เพื่อนคู่คิดธุรกิจอุตสาหกรรมอาหาร