July 31, 2024
Admin Cogistics Co.,Ltduser_icon

ไมโครพลาสติก สิ่งปนเปื้อนที่แทรกซึมสู่ห่วงโซ่อาหาร (Food Chain)

ไมโครพลาสติก สิ่งปนเปื้อนที่แทรกซึมสู่ห่วงโซ่อาหาร (Food Chain)

“ทุกคำที่คุณเคี้ยว อาจมีไมโครพลาสติกปนเปื้อนอยู่” คำพูดนี้อาจไม่ใช่เรื่องเกินจริงอีกต่อไป เพราะไมโครพลาสติกชิ้นเล็กจิ๋วที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่าได้แพร่กระจายไปอยู่ทุกที่ทั้งในอากาศ แหล่งน้ำ รวมถึงแทรกซึมเข้าสู่ห่วงโซ่อาหาร (Food Chain) ของเรา

จากผลงานวิจัยในปี พ.ศ. 2563 โดยองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) ร่วมกับมหาวิทยาลัยนิวคาสเซิลในประเทศออสเตรเลีย พบว่าปริมาณพลาสติกจากแหล่งธรรมชาติสู่วงจรบริโภคของมนุษย์ อาจทำให้เราบริโภคไมโครพลาสติกในอาหารเข้าสู่ร่างกายมากกว่า 2,000 ชิ้น หรือ 5 กรัมต่อสัปดาห์โดยประมาณ ซึ่งจะเทียบได้เท่ากับขนาดของบัตรเครดิต 1 ใบ เมื่อคิดเป็นปริมาณ 20 กรัมต่อเดือนหรือ 240 กรัมต่อปี !

ในปัจจุบันปัญหาไมโครพลาสติกนับเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นซึ่งแทรกซึมเข้าสู่ทุกมิติของชีวิตเราอย่างเงียบ ๆ แต่สิ่งที่น่ากังวลที่สุดคือไมโครพลาสติกได้เข้ามาปนเปื้อนในห่วงโซ่อาหาร เมื่อยิ่งปล่อยให้ปัญหาผ่านนานไปโดยที่ไม่ช่วยกันแก้ไขเราก็จะยิ่งบริโภคไมโครพลาสติกสะสมเข้าสู่ภายในร่างกายไปเรื่อย ๆ จนส่งผลกระทบต่อสุขภาพและการดำรงชีวิตของเราได้นั่นเอง

ไมโครพลาสติก คืออะไร ?

ไมโครพลาสติก (Microplastic) คือ อนุภาคของพลาสติกที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางน้อยกว่า 5 มิลลิเมตร หรือมีขนาดเล็กมากจนไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ซึ่งส่วนใหญ่มักเกิดจากการสลายตัวของขยะพลาสติกหรือการแตกหักของพลาสติกขนาดใหญ่ รวมถึงพลาสติกที่ถูกผลิตให้มีขนาดเล็ก เช่น ไมโครบีดส์ (Microbeads) ที่ใช้ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ยาสีฟัน หรือผลิตภัณฑ์อื่น ๆ อีกมากมาย

ไมโครพลาสติกเกิดจากอะไร ?

ไมโครพลาสติกเกิดจากหลากหลายแหล่งที่มาทั้งในครัวเรือนและอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นจากบ้านเรือนหรือที่อยู่อาศัยที่เกิดจากการใช้งานผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่มีส่วนประกอบของไมโครพลาสติก หรือการเสียดสีระหว่างรถยนต์กับพื้นถนนจนไมโครพลาสติกในยางรถยนต์แตกตัว แม้กระทั่งจากอวนของชาวประมงที่มีส่วนประกอบของไนลอนที่เป็นไมโครพลาสติก เป็นต้น โดยสามารถแบ่งได้ออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ดังนี้

  1. ไมโครพลาสติกปฐมภูมิ (Primary Microplastics) : ไมโครพลาสติกที่ถูกผลิตมาในรูปแบบอนุภาคเล็กตั้งแต่ต้นตามวัตถุประสงค์ในการใช้งาน เช่น เม็ดพลาสติกบริสุทธิ์ (Nurdle) กลิตเตอร์ (Glitter) เม็ดบีดส์ (Beads) หรือไมโครบีดส์ (Microbeads) รวมไปถึงเส้นใยสังเคราะห์ ซึ่งเป็นสารตั้งต้นในกระบวนการผลิตภัณฑ์พลาสติก หรือเม็ดพลาสติกที่อยู่ในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น เครื่องสำอาง โฟมล้างหน้า หรือยาสีฟัน เป็นต้น
  2. ไมโครพลาสติกทุติยภูมิ (Secondary Microplastics) : ไมโครพลาสติกที่เกิดจากการแตกหักหรือย่อยสลายของชิ้นส่วนพลาสติกขนาดใหญ่ จนกลายเป็นชิ้นส่วน (Fragment) เส้นใย (Fiber) หรือแผ่นฟิล์ม (Film) ของพลาสติกที่มีขนาดเล็กลงจากขวดน้ำ ถุงพลาสติก หรือบรรจุภัณฑ์อื่น ๆ โดยเมื่อเวลาผ่านไปจนเกิดการย่อยสลายในกระบวนการต่าง ๆ เช่น การย่อยสลายทางกล, การย่อยสลายทางเคมี, การย่อยสลายทางชีวภาพ หรือการย่อยสลายด้วยแสง จนทำให้สารแต่งเติมในพลาสติกหลุดออกและเกิดการแตกตัวจนมีขนาดเล็ก

 

การปนเปื้อนของไมโครพลาสติกในห่วงโซ่อาหาร

การปนเปื้อนของไมโครพลาสติกในห่วงโซ่อาหาร

สาเหตุการปนเปื้อนของไมโครพลาสติกในห่วงโซ่อาหาร (Food Chain) โดยส่วนใหญ่มาจากพลาสติกที่ใช้แล้วทิ้งมากกว่า 112 ตันที่หลุดรอดออกสู่ทะเล ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของปัญหามลพิษจากไมโครพลาสติก ไม่ว่าจะเป็นการทิ้งขยะพลาสติกลงแหล่งน้ำ การทำประมง หรือการปล่อยของเสียที่มีส่วนประกอบของไมโครพลาสติกจนทำให้มีการปนเปื้อนอยู่ในแหล่งน้ำ ซึ่งเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์น้ำต่าง ๆ

และด้วยขนาดของพลาสติกที่มีอนุภาคเล็กมากจนหลุดรอดการกรองระหว่างการบำบัดน้ำเสีย รวมถึงขยะพลาสติกที่ไม่สามารถละลายในน้ำได้และแตกตัวออกเป็นอนุภาคขนาดเล็กจนกลายเป็นอาหารของแพลงก์ตอนและหอย แล้วกลายมาเป็นอาหารของสัตว์น้ำอีกทอดหนึ่ง จนทำให้สัตว์น้ำกินไมโครพลาสติกเข้าไป เมื่อมนุษย์นำสัตว์ทะเลเหล่านี้มาประกอบอาหาร จึงทำให้เกิดการสะสมในห่วงโซ่อาหาร และถ่ายทอดไปตามลำดับขั้นของการบริโภคอาหารในระบบนิเวศ จนส่งผลให้มีไมโครพลาสติกในอาหารที่เราทานเข้าไปนั่นเอง

 

ประเภทอาหารที่มีความเสี่ยงสูงต่อการปนเปื้อน

ประเภทอาหารที่มีความเสี่ยงสูงต่อการปนเปื้อน

ไมโครพลาสติกสามารถแฝงตัวและแทรกซึมเข้าไปอยู่ในทุก ๆ ที่ไม่ว่าจะเป็นแหล่งน้ำ ดิน หรืออากาศจนทำให้การเกิดปนเปื้อนอยู่ในอาหารหลากหลายประเภท ซึ่งปัจจุบันมีหลักฐานมากมายเกี่ยวกับการแพร่หลายของไมโครพลาสติกในผลิตภัณฑ์อาหาร ได้แก่

  • เกลือ : เกลือที่สกัดจากทะเลมักมีการปนเปื้อนของไมโครพลาสติก เนื่องจากการสะสมของพลาสติกในทะเลที่ถูกเก็บเกี่ยวมาพร้อมกับเกลือนั่นเอง
  • เนื้อสัตว์ : ผลการศึกษาจากประเทศเนเธอ์แลนด์พบว่ามีไมโครพลาสติกในเนื้อหมู เนื้อวัว และผลิตภัณฑ์นมสูงถึงร้อยละ 75 จากตัวอย่างทั้งหมด โดยไม่สามารถระบุได้ว่าแหล่งที่มาของพลาสติกมีการปนเปื้อนมาจากที่ใด
  • อาหารทะเล : สัตว์น้ำในทะเล เช่น ปลา หอย ปู กุ้ง มีความเสี่ยงสูงต่อการปนเปื้อนไมโครพลาสติก เนื่องจากสัตว์น้ำเหล่านี้มักกินไมโครพลาสติกที่ลอยอยู่ในน้ำโดยไม่รู้ตัว และเมื่อเราบริโภคสัตว์น้ำเหล่านี้ไมโครพลาสติกย่อมเข้าสู่ร่างกายของเราเช่นเดียวกัน
  • อาหารแปรรูป : อาหารแปรรูปที่ผ่านกระบวนการผลิตและบรรจุภัณฑ์พลาสติกมีความเสี่ยงในการปนเปื้อนไมโครพลาสติก โดยเฉพาะอาหารที่บรรจุในพลาสติกหรือผ่านกระบวนการที่ใช้พลาสติก การเสียดสีระหว่างการผลิตและการบรรจุสามารถทำให้ไมโครพลาสติกเข้าสู่อาหารได้
  • ผักและผลไม้ : ผักและผลไม้ที่ปลูกในพื้นที่ใกล้แหล่งน้ำหรือดินที่ปนเปื้อนไมโครพลาสติก อาจมีความเสี่ยงในการปนเปื้อน เมื่อไมโครพลาสติกในดินหรือน้ำเข้าสู่ระบบรากของพืช ก็สามารถเข้าสู่ผลผลิตที่เราบริโภคได้เช่นเดียวกันนั่นเอง

ผลกระทบของไมโครพลาสติกต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม

ไมโครพลาสติกเป็นปัญหาที่ซับซ้อนและส่งผลกระทบในวงกว้างทั้งต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อม ดังต่อไปนี้

  • ผลกระทบของไมโครพลาสติกต่อสุขภาพ

ไมโครพลาสติกที่เข้าสู่ร่างกายมนุษย์ผ่านการบริโภคอาหารและน้ำอาจสะสมในอวัยวะต่าง ๆ จนอาจส่งผลกระทบต่อร่างกายได้ในระยะยาว เช่น รบกวนการทำงานของฮอร์โมนในร่างกาย ส่งผลกระทบต่อพัฒนาการทางสมองของเด็กเล็ก ขัดขวางการทำงานของเส้นเลือด เป็นตัวกลางนำสารพิษเข้าสู่ร่างกายมนุษย์เนื่องจากไมโครพลาสติกมีคุณสมบัติในการดูดซับหรืออุ้มได้จนอาจทำให้เป็นตัวนำสารพิษบางประเภทเข้าสู่ร่างกาย ตลอดจนหากไมโครพลาสติกฝังเข้ากับเนื้อเยื่อในร่างกายจนอาจทำให้เป็นสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็ง เป็นต้น

อย่างไรก็ตามในปัจจุบันยังไม่มีรายงานว่าไมโครพลาสติกที่เราได้รับผ่านทางห่วงโซ่อาหารก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์ แต่หากได้รับการสะสมเป็นเวลานานไม่ถูกขับออกจากร่างกายให้หมดไปก้สามารถส่งผลกระทบต่อร่างกายได้ในระยะยาวเช่นเดียวกัน

  • ผลกระทบของไมโครพลาสติกต่อสิ่งแวดล้อม

ไมโครพลาสติกเป็นสิ่งปนเปื้อนที่มีขนาดเล็กและน้ำหนักเบาจนทำให้สามารถแพร่กระจายไปในดิน น้ำ และอากาศ ทำให้เกิดการปนเปื้อนในระบบนิเวศซึ่งสามารถส่งผลกระทบต่อพืชและสัตว์ที่อาศัยในระบบนิเวศเหล่านั้น เช่น ระบบนิเวศทางทะเล แหล่งน้ำธรรมชาติ หรือแม้กระทั่งส่งผลกระทบต่อสภาพอากาศ ตลอดจนผลกระทบต่อห่วงโซ่อาหารของมนุษย์อีกด้วย

ซึ่งการตระหนักถึงผลกระทบของไมโครพลาสติกทั้งต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องสำคัญในการหาวิธีแก้ไขและป้องกันปัญหานี้ โดยจะต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างรัฐบาล ภาคเอกชน และประชาชนทั่วไปในการลดการใช้พลาสติกและปรับปรุงการจัดการขยะ หรือวิธีการอื่น ๆ ที่จะช่วยลดปัญหาไมโครพลาสติกเพื่อไม่ให้ส่งกระทบต่อระบบนิเวศ ตลอดจนห่วงโซ่อาหารของเรานั่นเอง

 

บทความที่น่าสนใจ : 

 

เลือกวัตถุดิบที่ปลอดภัยและได้มาตรฐาน เลือก “Veggie Industry”

เลือกวัตถุดิบที่ปลอดภัยและได้มาตรฐาน เลือก “Veggie Industry”

การเลือกวัตถุดิบผักผลไม้ที่ปลอดภัยและได้มาตรฐานเป็นสิ่งสำคัญในการใส่ใจถึงสุขภาพและคุณภาพของอาหารที่ผลิตให้แก่ผู้บริโภค เพราะฉะนั้นวัตถุดิบที่คุณใช้ในการประกอบอาหารจะต้องเป็นวัตถุดิบที่ปลอดภัย มีคุณภาพ และได้มาตรฐาน ซึ่งเป็นเรื่องยากที่จะสามารถตรวจสอบได้หากเลือกใช้ผักผลไม้ประเภทของสดตามท้องตลาด

Veggie Industry” บริการจัดหาวัตถุดิบผักผลไม้แช่แข็งด้วยระบบจัดการแบบห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) จึงเป็นทางเลือกที่ตอบโจทย์ธุรกิจและอุตสาหกรรมอาหารสำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการความมั่นใจในเรื่องของความปลอดภัยและคุณภาพของวัตถุดิบผักผลไม้

เพราะเรามุ่งมั่นในการคัดสรรวัตถุดิบจากธรรมชาติที่ปลูกโดยเกษตรกรที่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ปราศจากสารเคมีอันตราย และผ่านกระบวนการผลิตที่สะอาด ปลอดภัย พร้อมทั้งผ่านการรับรองมาตรฐานในระดับสากลทั้งมาตรฐาน GMP / HACCP และเครื่องหมายฮาลาล (Halal) 

สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ช่องทาง

Call: 02-328-6638

Line Official: @cogistics

Facebook: Cogistics Co., Ltd.

Email: salesorder@cogistics.co.th

แล้วมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับเรา Cogistics เพื่อนคู่คิดธุรกิจอุตสาหกรรมอาหาร