คำว่า “ซัพพลายเชน” เป็นคำที่คุ้นเคยและเป็นศาสตร์ที่ค้นพบมาเนิ่นนานแล้ว แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ผู้ประกอบการในประเทศไทยมิได้ตระหนักถึงความสำคัญจึงไม่ได้นำองค์ความรู้ของการจัดการทางซัพพลายเชนมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างจริงจัง
ในยุคโลกาภิวัตน์ที่ผ่านมาทำให้ธุรกิจเกิดความเชื่อมโยงและเกี่ยวข้องกันอย่างซับซ้อนตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำโดยไม่รู้ตัว อีกทั้งธุรกิจรุ่นเก่าที่นิยมทำทุกอย่างด้วยตนเองโดยไม่พึ่งพาผู้อื่นก็ไม่อาจอยู่รอดได้ เพราะขาดศักยภาพในการแข่งขันและไม่สามารถรับมือกับสภาวะเปลี่ยนแปลงจากภายนอกได้
ดังนั้นภายใต้สภาวะเช่นนี้ การออกแบบและจัดการซัพพลายเชนที่สามารถส่งมอบคุณค่าทางธุรกิจให้กับลูกค้าคนสำคัญได้ดีในทุก ๆ สถานการณ์จึงนับเป็นหัวใจของการนำไปสู่ความสำเร็จของธุรกิจทั้งในปัจจุบันและอนาคต ดังคำกล่าวที่ว่า “จะทำธุรกิจให้ชนะในยุคนี้ ต้องเก่งทั้งร่วมมือกับคู่ค้าตัวจริงที่สามารถร่วมสร้างคุณค่าทางธุรกิจและมีเป้าหมายร่วมกันได้”
ในสภาพแวดล้อมที่มีการเปลี่ยนแปลงสูง เช่น ภัยพิบัติจากโลกร้อนหรือรูปแบบความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลามีผลกระทบต่ออุปสงค์และอุปทานของธุรกิจ และมักสร้างความเสียหายให้กับธุรกิจโดยไม่รู้ตัวอยู่เสมอ ซึ่งธุรกิจที่ไม่มีมุมมองของซัพพลายเชนมักยอมจำนนกับความเสียหายเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้เสมอโดยรอให้สถานการณ์ภายนอกเป็นผู้ปรับตัวให้กับการทำงานแบบเดิม ๆ ของตน
แต่เหตุการณ์โควิด-19 ที่ได้สร้างความเสียหายให้กับธุรกิจอย่างรุนแรงจนบางธุรกิจต้องหยุดกิจการเป็นระยะเวลาเนิ่นนานพอที่จะทำให้เจ้าของกิจการกลับมาคิดทบทวนและพบว่าที่ผ่านมาธุรกิจส่วนใหญ่มุ่งเน้นแต่การทำตลาดแต่มองข้ามความสามารถในการปรับตัวขององค์กร “การออกแบบและการจัดการซัพพลายเชน” จึงเป็นคำตอบที่ธุรกิจไม่สามารถมองข้ามได้อีกต่อไปท่ามกลางโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในปัจจุบันและยิ่ง ๆ ขึ้นไปในอนาคต
SCM เปรียบเสมือนการอัปเกรดระบบทั้งหมดแบบบูรณาการ และต่อเนื่องที่ส่งผลดี 3 ประการ ดังนี้
1) มองเห็นภาพรวม (Bird Eye’s View) การจัดการซัพพลายเชนต้องเริ่มต้นจากการออกแบบกระบวนการทำงานที่เชื่อมโยงตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำทำให้ผู้บริหารมีมุมมอง 360 องศา อย่างต่อเนื่อง และมีการสร้าง Supply Chain Mapping ที่สามารถกำหนดข้อมูลที่จะใช้เป็นการประมาณค่า (Parameter) ที่สำคัญต่อการจัดการทางซัพพลายเชนทั้งระบบเพื่อพัฒนาคุณค่าทางธุรกิจร่วมกันได้
2) ระบบกำจัดสิ่งที่ไม่เกิดประโยชน์ (Zero Waste) การบริหารซัพพลายเชนอย่างต่อเนื่องจะเปิดโอกาสให้ผู้บริหารได้เลือกวิธีการที่ดีกว่าในทุกจุดเชื่อมต่ออยู่เสมอ เป็นการกำจัดสิ่งที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ออกไปจากระบบโดยไม่ส่งผลเสียต่อคุณค่าทางธุรกิจ จึงเป็นกระบวนการที่ปรับตัวเองให้คล่องตัว (Lean Management) ได้อย่างต่อเนื่อง
3) ระบบแก้ปัญหาแบบองค์รวม (Holistic Integration) กระบวนการจัดการทางซัพพลายเชน เป็นการจัดการองค์รวมแบบบูรณาการที่ทำให้ธุรกิจมองเห็นปัญหาล่วงหน้าและรองรับการแก้ปัญหาได้ไวและทันท่วงที เป็นกระบวนการแก้ปัญหาตั้งแต่ต้นทางที่ไม่ปล่อยให้เกิดผลกระทบใหญ่โตขึ้นกับธุรกิจ โดยสามารถจัดการแก้ปัญหาในหลาย ๆ จุดร่วมกันเพื่อให้ปัญหาเหล่านั้นไม่ส่งผลกระทบต่อลูกค้าปลายทางหรือกระทบน้อยที่สุด
บริษัทโคจิสติกส์เป็นผู้นำระบบจัดการทางซัพพลายเชนมาแก้ปัญหาการจัดหาวัตถุดิบประเภทผักและผลไม้แช่แข็งพร้อมใช้ และ ระบบขนส่งสินค้าควบคุมอุณหภูมิ ให้กับกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมอาหารมากว่าสิบปี เป็นเบื้องหลังของความสำเร็จให้ภาคอุตสาหกรรมอาหารชั้นนำของประเทศมากว่าทศวรรษ ดูรายละเอียดเพิ่มเติม www.cogistics.co.th/th/